สเปรย์กำจัดไรฝุ่นจากสมุนไพรไทย จากดร.อำมร อินทร์สังข์

ด้วยพื้นฐานที่ได้ศึกษามาทางด้านไรฝุ่นในโรงเก็บมา และเห็นว่า ไรฝุ่น (house dust mite) เป็นสาเหตุสำคัญถึง ร้อยละ 80 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะและถือว่าเป็นปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ต่างๆ อาทิ โรคหอบหืด เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ โรคแพ้อากาศ ฯลฯ ทำให้ ดร.อำมร อินทร์สังข์ ภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนักวิจัยโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) ได้หันมาสนใจในการศึกษาเรื่องไรฝุ่น โดยในระยะเริ่มต้นเมื่อปี 2545 นั้นเป็นทั้งการสำรวจความหลากหลายทางชีวะภาพควบคู่กันไปกับการควบคุม โดยการที่ใช้สารสกัดจากพืชสมุนไพร ในพื้นที่ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ภาพ House dust mite
ที่มา immunology.net.au

 

 

สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้นั้น แพทย์ก็จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงจากสารที่คนไข้แพ้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือไรฝุ่นเจ้าปัญหา ซึ่งมักพบที่เตียงนอน หมอน ผ้าห่ม พรม ผ้าม่าน ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่บรรจุด้วยเส้นใยต่างๆ และหากอายุการใช้งานของสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ปริมาณไรฝุ่นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย การนำเครื่องนอนออกไปตากแดดก็ช่วยกำจัดไรฝุ่นได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่เศษซาก มูล รวมทั้งตัวไรเองนั้นแทบไม่ได้หายไปไหนเลยบางครั้งนอกจากให้ทำความสะอาด แพทย์อาจแนะนำในทิ้งเครื่องนอนพวกนั้นเสียเลย ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องนอนไม่ใช่ของถูกๆ จึงน่าจะหาทางออกอื่นทดแทน

 

ไรฝุ่นนั้นอยู่ได้ทั่วไปแทบทุกที่จากการศึกษาทั่วโลกนั้นความหลากหลายไรฝุ่นมีถึง 36 ชนิด ที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือน และในประเทศไทยตามพื้นที่ที่ดร.อำมร ศึกษาพบว่ามี 6-7 ชนิด แต่เนื่องจากมีขนาดเล็กมากประมาณ 300 ไมโครเมตร ตัวที่ใหญ่ที่สุดก็ประมาณได้ว่าเอาดินสอปลายแหลมมากๆ จุดลงไปบนกระดาษเท่านั้น มันจึงไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไรฝุ่นชอบอาศัยในที่อุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูงร้อยละ 60-70 ไม่ชอบแสงสว่าง ด้วยขนาดที่เล็กมากนี่เองทำให้มันสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศและง่ายต่อการถูกสูดดมเข้าสู่ร่างกาย

 

และก็เป็นที่น่ายินดีเมื่อ ผศ.อำมรกล่าวว่า งานวิจัยและพัฒนาโครงการศึกษาควบคุมไรฝุ่นด้วยพืชสมุนไพร โดยได้รับสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากร ชีวภาพในประเทศไทย หรือบีอาร์ ล่าสุดทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการศึกษาการควบคุมไรฝุ่นชนิด Dermatophagoides pteronyssinus ด้วยสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืช เพื่อทดแทนการใช้สารสกัดหยาบรักษาโรคภูมิแพ้ โดยสารสกัดที่ได้จะเข้าไปรบกวนระบบการหายใจของไรฝุ่น

 

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้นในช่วงระยะเริ่มต้น ก็เริ่มจากการทดลองกับอบเชย ว่านน้ำ และหางไหล กระทั่งในปี 2546 ก็ได้สารสกัดหยาบมา โดยใช้วิธีการกลั่นตามลำดับส่วน ด้วยเครื่องชอคเลคประมาณ 18 ชั่วโมงนั้น แล้วมาลดความเข้มขนให้เหลือเป็นก้อน แลผ่านขั้นตอนจนกระทั่งได้สารสกัดออกมาแบบเหนียวๆ แล้วจึงนำสารนี้มาละลายในน้ำเพื่อจัดความเข้มข้น และมาฉีดพ่นกับไรฝุ่น แล้วจึงดูว่าสารสกัดแบบไหนจากพืชชนิดใด ที่ให้ผลต่อการกำจดไรฝุ่นได้ดี

 

ในปี 2548-49 ก็ได้ สารสกัดจากกานพลู และอบเชย ซึ่งเป็นตัวใหม่แล้วก็ให้ผลดีกว่าว่านน้ำ และหางไหล ส่วนพวกอื่นๆที่มีประสิทธิภาพรองลงมาก็เช่นพวกขมิ้นชัน ตะไคร้ พวกนี้ก็ให้ผลดี แต่อย่างไรก็ตามมันยังเป็นสารสกัดอยู่ จึงพบปัญหาคือการมีสี ทำให้ไม่สะดวกเมื่อนำไปใช้งานกับของใช้ที่จะเปื้อนสีได้

ภาพ อบเชย-กานพลู
ที่มา bangkokbiznews.com

 

 

ส่วนประสิทธิภาพในการกำจัดไรฝุ่นนั้น ในห้องปฎิบัติการสามารถกำจัดได้เต็มที่100 % แต่ถ้าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ก็จะนั้นก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นเป็นสองเท่า เพราะไม่สามารถควบคุมปัจจัยเเวดล้อมได้ดีเท่าในห้องปฎิบัติการ และในส่วนของสีที่เป็นปัญหาของสารสกัดนั้น เมื่อเอามาทำละลายเพื่อใช้เพียงสองเปอร์เซ็นต์ก็ช่วยให้สีเจือจางลงอย่างมาก

 

ต่อมา คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นกำลังหลักของทีมวิจัย ได้คิดค้นวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อทดแทนการใช้สารสกัดหยาบในการควบคุมไรฝุ่น โดยการกลั่นด้วยไอน้ำ ได้สารออกฤทธิ์และสีจะจางมีการปนเปื้อนน้อยมากที่ความเข้มข้น 100 เปอร์เซ็นต์ และยิ่งเอามาเจือจางแค่ 2 CC จาก 100 CC ก็ยิ่งจางจนใส เพราะฉะนั้นนี่ก็สามารถลดปัญหาเรื่องสีได้

 

มาที่ปัญหาเรื่องกลิ่น บางคนชอบกานพลูบางคนไม่ค่อยชอบ ด้วยความที่กลิ่นมันค่อนข้างแรง จึงมีความพยายามผสมสารอื่นเข้าไป โดยใส่สารที่เป็นหัวน้ำหอม ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เข้าไปประมาณ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถกลบกลิ่นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่สามารถกลบกลิ่นได้ทั้งหมด

 

นอกจากนี้ข้อดีของกานพลูและอบเชยอย่างหนึ่งก็คือ คุณสมบัติที่นอกจากฆ่าๆไรฝุ่นแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นทั้งไรและแบคทีเรียก็จะถูกกำจัดไปในคราวเดียวกัน แล้วอีกอย่างที่กำลังทำการวิจัยขั้นสุดท้ายในโปรเจคนี้ ก็คือสารของกานพลูจะช่วยลดสารก่อภูมิแพ้ได้หรือไม่

 

สำหรับสมุนไพร8 ชนิด ที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยนั้น ได้แก่ กานพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพา และมะพร้าว ผลปรากฏว่าน้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรฝุ่นสูงสุดคือ 100% รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน ไพล และตะไคร้หอม ที่ความเข้มข้น 1.5 % โดยกำจัดไรฝุ่นได้ 93.3 ,90.0 และ 76.7 ตามลำดับ ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากพริกไทยดำและโหระพากำจัดได้ร้อยละ 50-70 ขณะที่น้ำมันหอมระเหยจากมะพร้าวกำจัดได้ต่ำกว่าร้อยละ โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ใช้ จะเห็นว่าตะไคร้ก็ได้ผลดีหากใช้ความเข้มข้นอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะทำให้ได้กลิ่นค่อนข้างแรง ดับกลิ่นได้ยาก ไม่เหมือนกับกานพลูกับอบเชย จึงไม่เหมาะในการนำมาใช้เท่าไหร่

 

และจากการทดลองใช้ก็เป็นที่น่าพอใจว่านอกจากฆ่าไรฝุ่นได้ 100% แล้ว ยังมีกลิ่นหอมไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ และไม่ทำให้เส้นใยของเครื่องนอนต่างๆเสียหาย เพราะสารสกัดจะเข้าไปกันเคลือบเส้นใยผ้ายิ่งถ้าฉีดบ่อยๆมันก็จะเคลือบอยู่ได้นาน ประมาณ3-4 เดือนไรฝุ่นก็จะไม่สามารถอยู่ได้ แต่การจะใชัในชีวิตประจำวันให้ได้ผลในการกำจัดไรฝุ่นให้ได้เหมือนในห้องทดลองก็อาจเป็นไปได้อย่างเสีย เพราะการจะมีประสิทธิภาพเต็มที่จะต้องรมโดยการใช้ถุงพลาสติกคลุม แต่ปัญหาคือมันไม่สะดวกทำยาก จึงอาจจะปรับมา ให้ใช้ผ้าห่มหนาๆคลุมแทนโดยทำการฉีดทั้งที่นอนเละที่ผ้าห่มอีกทีหนึ่งเป็นการรมมันอยู่ข้างใน และการรมด้วยผ้าห่มยังสามารถที่ช่วยลดไรฝุ่นในผ้าห่มได้ด้วย แม้ประสิทธิภาพมันอาจจะสู้การรมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่การกำจัดไรฝุ่นก็ค่อนข้างจะสมบูรณ์ และยังแนะนำว่าควรจะรมตอนเช้าเพราะกลิ่นค่อนข้างแรง ตกเย็นกลิ่นมันก็จะจางลง

 

ในวันนี้ สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และมีบริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด เข้ามาติดต่อเพื่อทำเป็นสเปรย์กระป๋อง นำไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว

ภาพ ดร.อำมร อินทร์สังข์
ที่มา boybdream.com

 

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/39552