จากโจทย์วิจัย…สู่คำถามที่ท้าทายของผู้บริโภค

โจทย์วิจัยที่เราสนใจในขณะนั้นก็คือ การกำจัดไรฝุ่นด้วยวิธีที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ประกอบกับอาจารย์มีความรู้เรื่องสมุนไพรกำจัดไรพืชในระดับหนึ่ง

• จึงเกิดความพยายามที่จะนำสมุนไพรมาลองกำจัดไรฝุ่นบ้าง เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีความหลากหลายสูง โดยในช่วง 4 ปีแรกของงานวิจัย อาจารย์ได้คัดเลือกสมุนไพรที่มีศักยภาพในการกำจัดพวกไรพืชและไรฝุ่นได้ถึง 40 ชนิด

ตัวหลักที่อาจารย์ให้ความสนใจคือ กานพลูและอบเชย แต่มีผู้รู้หลายท่านแนะนำให้เลี่ยงนำสมุนไพรสองชนิดนี้ เนื่องจากจะไปแย่งชิงกับการใช้ประโยชน์เรื่องการบริโภค แต่อาจารย์เองกลับมองว่ายิ่งเป็นพืชที่สามารถรับประทานได้ และนำไปใช้กับที่นอนได้ ยิ่งจะสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคได้ อาจารย์จึงได้ทดลองโดยนำมาสกัดเป็นสารสกัดหยาบ และนำมาทดสอบความต้านทานของไรฝุ่นที่สำคัญและพบมากในประเทศไทย 2 ชนิดคือ Dermatophagoides pteronyssinus และ Blomia tropicalis Bronswijk

 

• สารสกัดหยาบที่ได้จะนำมาละลายด้วยเอทานอลที่ค่าความเข้มข้นต่าง ๆ กัน พบว่าความเข้มข้นเพียง 1% ก็สามารถฆ่าไรฝุ่นได้แล้ว แต่ข้อเสียคือ (1) สีของสารสกัดหยาบเมื่อนำไปทดลองพ่นใช้ดูแล้วจะปรากฏเป็นคราบสีเหลือง (2) การควบคุมคุณภาพในเชิงการผลิต เรายังไม่ทราบว่าสารสกัดหยาบตัวไหนที่ออกฤทธิ์จริง ๆ ดังนั้นคำตอบหนึ่งซึ่งอาจารย์จะใช้ในการควบคุมคุณภาพคือ การสกัดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งภายหลังอาจารย์ก็ทราบว่าสารออกฤทธิ์หลักคือ ยูจินัล (Eugenol) ซึ่งในน้ำมันหอมระเหยมียูจินัลไม่ต่ำกว่า 70-80% เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงได้คำตอบว่าการสกัดน้ำมันหอมระเหยสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องสี และการควบคุมคุณภาพ แต่สิ่งที่ยังกังวลอีกอย่างคือเรื่องกลิ่น เพราะผู้บริโภคบางคนไม่อยากให้มีกลิ่นเลย

ปัญหาเรื่องกลิ่น อาจารย์ได้แก้ไขโดยเสริมกลิ่นยูคาลิปตัส ไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองปรับปรุงเป็นกลิ่นมิ้นต์ กลิ่นส้ม กลิ่นลาเวนเดอร์ และกลิ่นกานพลู-อบเชย ซึ่งเป็นกลิ่นดั้งเดิม

  ที่มา : บทสัมภาษณ์ และ เอกสารเผยแพร่ไรฝุ่นบ้าน โดย ผศ.ดร.อำมร อินทรสังข์ และทีมวิจัย