สเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่น… จากงานวิจัยสู่ธุรกิจ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 513 อาคาร ไบโอเทค สวทช. ได้มี พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิสเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืชกำจัดไรฝุ่น ระหว่างโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) และ บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด

ดร. อำมร อินทร์สังข์
ดร. อำมร อินทร์สังข์

ทีมวิจัยไรฝุ่น นำโดย ดร. อำมร อินทร์สังข์ และ คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ศึกษาวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับไรฝุ่นมาตั้งแต่ด้านอนุกรมวิธาน การแพร่กระจายและชีววิทยา จนกระทั่งสามารถค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้สำเร็จ แต่หลังจากนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมกลับยังประสบปัญหา เนื่องจากสารสกัดมีการปะปนของสาร อื่นๆอยู่มาก ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ยาก อีกทั้งในสารสกัดของพืชยังมีเม็ดสี จึงทำให้สีติดที่นอน และทำให้เกิดรอยด่างสร้างความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์บางอย่างได้

คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน
คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน

ต่อมาทีมวิจัยซึ่งมี คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน นักวิทยาศาสตร์ในสังกัดภาควิชาฯ เป็นกำลังหลัก ได้คิดค้นวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อทดแทนการใช้สารสกัดหยาบในการควบคุมไรฝุ่นชนิด Dermatophagoides pteronyssinus จนประสบความสำเร็จ โดยนำพืช 8 ชนิดมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ กานพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพา และมะพร้าว

ผลปรากฎว่าน้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรฝุ่นสูงสุดคือ 100% รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน ไพล และตะไคร้หอม ที่ความเข้มข้น 1.5 % โดยกำจัดไรฝุ่นได้ 93.3 ,90.0 และ 76.7 ตามลำดับ จึงนำกานพลูและอบเชยมาเป็นสารประกอบหลัก และใช้ไพลกับตะไคร้หอมเป็นสารประกอบรองผสมเป็นสูตรน้ำมันหอมระเหย

ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น ได้มีการทดลองบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อทดลองใช้ ซึ่งนอกจากฆ่าไรฝุ่นได้ 100% แล้ว ยังมีกลิ่นหอมและไม่เป็นอันตราย เป็นทางเลือกใหม่ในการกำจัดไรฝุ่น จึงนำไปสู่ความสนใจและขออนุญาตใช้สิทธิ จาก บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด

ด้าน ศ. ดร วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย กล่าวว่า "BRT เป็นหน่วยงานที่ให้ทุนการทำงานวิจัยพื้นฐาน ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับเรื่องไรฝุ่นนี้ เริ่มตั้งแต่การวิจัยความหลากหลายและชีววิทยาของไรฝุ่น ใน จ.กาญจนบุรี ทำให้ทราบถึงชนิด วงจรชีวิต ตารางชีวิตของไรฝุ่น รวมถึงการทำวิจัยที่ควบคู่ไปกับการศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น จนในที่สุดก็ได้เป็น วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพ"

ดร. กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า "ไบโอเทค ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพตั้งแต่เริ่มต้น และให้การสนับสนุนโครงการ BRT ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ชีววิทยาพื้นฐานให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในงานด้านต่างๆ ได้ สำหรับ สเปรย์น้ำมันหอมระเหยที่ควบคุมและกำจัดไรฝุ่น นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณชานนท์ ระวังเหตุ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด กล่าวว่า "บริษัทฯ ของเราเป็นบริษัทอยู่ในวงการสมุนไพรมานาน นอกจากนี้ยังได้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรให้แก่ชุมชนด้วย การขออนุญาตใช้สิทธิในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีแก่บริษัทฯอย่างมาก เนื่องจาก สเปรย์น้ำมันหอมระเหยที่ควบคุมและกำจัดไรฝุ่นนี้ มีประโยชน์แก่ประชาชนในการกำจัดไรฝุ่น ปลอดภัยทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน"

ในขณะที่คุณสาริศา ปิ่นทอง บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่า "เดิมวิธีการป้องกันและกำจัดไรฝุ่น มีหลากหลาย ตั้งแต่ทิ้งอุปกรณ์เครื่องนอนที่ใช้มานานหลายปี การเลือกใช้ผ้าหรือเส้นใยที่เคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น การทำความสะอาดเครื่องนอน รวมถึงการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดไรฝุ่น แต่สเปรย์น้ำมันหอมระเหยนี้ มีประสิทธิภาพมาก ช่วยลดความยุ่งยากในการป้องกันและกำจัดไรฝุ่นได้มาก"

หลอดดักจับไรฝุ่น
หลอดดักจับไรฝุ่น

สำหรับวิธีการใช้ สเปรย์น้ำมันหอมระเหยที่ควบคุมและกำจัดไรฝุ่นให้มีประสิทธิภาพ ควรฉีดน้ำมันหอมระเหยลงไปที่ฟูก ที่นอน หรือโซฟาแล้วนำพลาสติกหรือผ้าหนาๆมาคลุมไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ไอระเหยออกไปทำให้ไรฝุ่นที่หนีลงไปใต้ผิวที่นอนหรือโซฟาตายได้ ระยะการฉีดควรจะฉีด 2-3 เดือนต่อครั้ง เพราะไรฝุ่นอาจกลับมาภายหลังในช่วง 5-6 เดือนได้ โดยติดมากับหนู สัตว์เลี้ยง หรือติดมากับเสื้อผ้าเมื่อไปนั่งที่โซฟาหรือที่นอนซึ่งมีไรฝุ่นจากที่อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไรฝุ่น

ไรฝุ่นเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Phylum Arthopoda เช่นเดียวกับแมลงและแมง แต่มีลักษณะเด่นคือมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเพียง 0.3 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่ในที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียสและอยู่ในที่มีความชื้นสูงร้อยละ60-70 ไม่ชอบแสงสว่าง ดังนั้นในบ้านเรือนจึงพบไรฝุ่นได้ตามในที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรม บนโซฟา ผ้าม่าน หรือตุ๊กตาที่ใช้วัสดุภายในเป็นเส้นใย

โดยทั่วไปแล้วไรฝุ่นจะมีวงจรชีวิต 5 ระยะ คือเมื่อตัวไรเข้าสู่ช่วงเจริญวัยเต็มที่จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ ซึ่งหลังจากผสมพันธุ์ได้ 3-4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งสามารถวางไข่ได้เพียงครั้งละ 1 ฟอง โดยตลอดชีวิตของไรฝุ่น 1 ตัว จะสามารถออกไข่ได้ถึง 80-100 ฟอง จากนั้นไข่จะเริ่มฟักเป็นตัวอ่อนภายในเวลา 8-12 วัน เข้าสู่ระยะวัยรุ่น 1 จะมีขา 6 ขา และทำการลอกคราบหลายครั้ง ซึ่งในระยะนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหว เมื่อเริ่มสร้างผิวตัวและเจริญเข้าสู่ระยะวัยรุ่น 3 จะมีขาครบ 8 ขา แล้วก็พัฒนาเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยที่มีลวดลายคล้ายนิ้วมือบนผิวตัว ไรฝุ่นจะมีช่วงอายุไขทั้งหมดเพียง 2-4 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหาร อุณหภูมิและความชื้นในอากาศด้วย

ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนัง 1 กรัมสามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ 1,000,000 ตัวนานถึง 1 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-30 C และความชื้นสัมพัทธ์ 75-80% สารก่อภูมิแพ้หลัก มักอยู่ในรูปของมูลและคราบของไรฝุ่น ซึ่งสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศและสูดดมเข้าไปได้ WHOได้กำหนด ระดับสารก่อภูมิแพ้ 2 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม หรือไรฝุ่น 100-500 ตัว/ ฝุ่น 1 กรัม เป็นระดับมาตรฐานที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด และ 10 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลันได้ ในประเทศไทยพบสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 11 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม และในกรุงเทพฯ พบปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 5 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www1a.biotec.or.th/BRT/index.php?option=com_content&view=article&id=116:mite-spray1&catid=14:pubilc&Itemid=66